พ.ศ.2505 การขยายตัวทางธุรกิจครั้งใหญ่ : การเกิดขึ้นของคู่แข่ง

เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดปูนซีเมนต์ภายในประเทศภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง แม้กระนั้นก็ตามเมื่อมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้น เช่น การสร้างเขื่อน สนามบิน ถนนทางหลวง ท่าเรือ และโครงการก่อสร้างในกิจการของรัฐบาลและกิจการทหารของสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการขาดแคลนปูนซีเมนต์ภายในประเทศขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้สั่งปูนเม็ดจากต่างประเทศเข้ามาใช้เป็นการชั่วคราวหลายครั้ง ทำให้รัฐบาลคิดตั้งบริษัทชลประทานซีเมนต์ขึ้นมา เพื่อให้การสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลซึ่งจำเป็นต้องมีการผลิตปูนซีเมนต์จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งให้กับการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็ได้ทราบข่าวโดยตลอด และยังสนใจจองหุ้นของบริษัทชลประทานซีเมนต์ไว้ด้วยจำนวน 200 หุ้น ในราคาหุ้นละ 1,000 บาท

แต่เมื่อบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ทราบข่าวที่รัฐบาลสั่งซื้อปูนซีเมนต์ประเภท Moderate Heat Cement จากบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด จำนวน 245,000 ตัน ในราคาตันละ 500 บาท ส่งมอบที่สนามบินตาคลี โดยชำระเงินล่วงหน้าก่อนส่งมอบปูนซีเมนต์เป็นวงเงินสูงถึง 9 ล้านบาท ที่ประชุมคณะกรรมการวิตกในเรื่องนี้ เนื่องจากรัฐบาลยังค้างชำระเงินค่าปูนซีเมนต์กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นวงเงินรวมสูงถึงเกือบ 20 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีบางกรณีเป็นหนี้ที่ค้างนานถึง 2 ปี ประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไปจึงเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อร้องเรียนเรื่องนี้

บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ทำการเปิดโรงงานที่ตาคลีในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2502 โดยมีปูนซีเมนต์ 3 ชนิดออกสู่ตลาด คือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ชนิดแข็งตัวเร็ว ปอร์ตแลนด์ชนิดธรรมดา และปูนซีเมนต์ชนิดผสมหินปูน ซึ่งเทียบได้กับปูนซีเมนต์ตราเสือของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

อย่างไรก็ตาม บริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ดูไม่คุกคามบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด มากนักเพราะมีปัญหาการบริหาร  แม้จะมีบางช่วงวิตกว่ากิจการนี้จะขายให้ต่างชาติ แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ในกรณีการตั้งบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย เป็นการเริ่มต้นยุคที่มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่

บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการค้ารายที่สองนั้น นายชวน รัตนรักษ์ ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในปี พ.ศ.2512 โดยได้รับการสนับสนุนทางการเมืองจากจอมพลประภาส จารุเสถียร (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง จำกัด มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทและได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารของกลุ่มรัตนรักษ์ (Suehiro Akira, 1996: 260) โดยใช้แหล่งวัตถุดิบที่ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่แก่งคอย เพื่อลดการเสียเปรียบในเรื่องต้นทุนขนส่งทั้งจากแหล่งวัตถุดิบและจากตลาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ