การรถไฟ

  • ชื่อ
    พ.ศ.2458 ความสัมพันธ์กับรถไฟไทย : เชื่อมต่อแหล่งวัตถุดิบ
    รายละเอียด :
    ความสำคัญของการคมนาคมขนส่งโดยรถไฟในยุคต้นมีมากมายเพียงใดสำหรับการตั้งโรงงานปูนซีเมนต์คงอ่านได้จาก "ทำเลและการก่อสร้าง" ที่ว่าด้วยการการตัดสินใจเปลี่ยนทำเลที่ตั้งโรงงานจากริมแม่น้ำมาอยู่ที่ริมทางรถไฟ

    พัฒนาการของการสร้างทางระบบรถไฟในเมืองไทยมีความสำคัญและสัมพันธ์กับการพัฒนาบริษัทปูนซิเมนต์ไทยอย่างมาก ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทีเดียว เนื่องจากก่อนเกิดโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกของประเทศไทยนั้น โครงข่ายทางรถไฟเกิดขึ้นเชื่อมการคมนาคมจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองสำคัญ ๆ แล้ว

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประการแรกสุดคือ การเชื่อมโยงระหว่างโรงงานที่บางซื่อกับแหล่งวัตถุดิบสำคัญในประเทศ อันได้แก่ แหล่งดินขาวหรือบางครั้งก็เรียกดินสอพอง (Marl) ซึ่งในช่วงแรกอยู่ที่ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยขนส่งด้วยรถไฟสายเหนือจากสถานีช่องแคถึงบางซื่อเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตร จากหนังสือตอบโต้ระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (19 มิถุนายน พ.ศ.2456) และกระทรวงคมนาคม (5 สิงหาคม พ.ศ.2456) ระบุว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องจ่ายค่าขนส่งวัตถุดิบให้การรถไฟเป็นเงินปีละ 50,000 - 100,000 บาท (ในขณะนั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า ticals) ในขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยกว่าจะเรียกค่าหุ้นครบ 100% ใช้เวลาถึง 3 ปี (พ.ศ.2459)

    ต้นทุนค่าขนส่งโดยรถไฟเป็นปัจจัยพิจารณาการตัดสินเชิงบริหารครั้งสำคัญ ๆ หลายครั้งต่อจากนั้น
    ความพยายามแสวงหาวัตถุดิบที่ใช้เวลาและต้นทุนในการขนส่งลดลง ในที่สุด อีกราว 6 ปีหลังจากตั้งโรงงานที่บางซื่อก็สามารถค้นพบแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ไม่เพียงอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ยังย่นระยะทางลงอีกเหลือประมาณ 100 กิโลเมตร

    “เมื่อการคมนาคมทางรถไฟและรถยนต์ได้เป็นปัจจัยให้เกิดตลาดสำหรับปูนซีเมนต์ ห่างจากเขตพระนครมากขึ้น บริษัทก็ได้ตกลงขยายกิจการเพิ่มเติมด้วยการจัดสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นทำเลที่ได้เปรียบกว่าตำบลบางซื่อ เพราะมีการลำเลียงทางน้ำได้ด้วย แล้วอยู่ห่างจากบ่อดินขาวเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น งานนี้ได้เริ่มก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงเล็กน้อย" (จากหนังสือปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2500 : 1957)

    อย่างไรก็ตามการตั้งโรงงานที่ท่าหลวง ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องตัดสินใจลงทุนสร้างทางรถไฟเอง เป็นระยะทางถึง 8 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโรงงานท่าหลวงกับสถานีรถไฟบ้านหมอ ซึ่งยกให้เป็นสมบัติของรัฐในเวลาต่อมา "แต่ก็อีกนั่นแหละเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ไม่สามารถทำให้กรมรถไฟเห็นอกเห็นใจบริษัทในการจัดแผนงานได้” ตอนหนึ่งของหนังสือปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2500 : 1957 ระบุเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งได้สรุปไว้ด้วยว่า     "ในที่สุดการเลือกที่ตั้งโรงงานที่ท่าหลวง ก็ได้ทำให้บริษัทเป็นเจ้าจำนำ (คู่ค้า) ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย”  
    ป้ายคำค้น :
    โรงงานบางซื่อ , แหล่งดินขาว , ตาคลี , นครสวรรค์ , การรถไฟ , บ้านหมอ , สระบุรี , โรงงานท่าหลวง , พระนครศรีอยุธยา , พ.ศ.2458
  • ชื่อ
    พ.ศ.2456 โรงงานบางซื่อ : ทำเลและการก่อสร้าง
    รายละเอียด :
    หนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ของเจ้าพระยายมราช ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2456 ระบุถึงความพร้อมต่าง ๆ ในการตั้งโรงงานไว้ว่า

    “เป็นโชคดีของบริษัทนี้เฉพาะบุตรจีนล่ำซำขัดเงิน บอกขายที่ริมน้ำบางซื่อ อันนับว่าเหมาะที่สุด สำหรับการตั้งโรงงานซีเมนต์จะหาที่อื่นที่เหมาะเช่นนั้นไม่ได้ หลวงสวัสดิ์เวียงไชยได้ซื้อไว้แล้วเป็นเงิน 12,000 บาท เมื่อบริษัทตั้งขึ้นแล้วก็จะได้โอนไปเป็นของบริษัท ตกลงว่าการทั้งปวง พร้อมหมดทุกอย่างแล้ว ยังแต่จะขออนุญาตที่ ๆ ช่องแค ซึ่งหลวงสวัสดิ์กับมิสเตอร์โกโลขึ้นไปตรวจแล้วเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของกับจะต้องพูดกับกรมรถไฟเรื่องจะทำทางเข้ามาโรงงานซีเมนต์เท่านั้น”

    แต่ความจริงต่อมา เนื่องจากไม่สามารถตกลงกับการรถไฟ (ตอนนั้นใช้ชื่อกรมรถไฟ) ในการสร้างทาง 2.4 กิโลเมตร จากสถานีบางซื่อไปยังโรงงานที่คาดว่าจะตั้งที่บางโพได้ จึงจำเป็นต้องแสวงหาที่ตั้งใหม่ใกล้ทางรถไฟ ซึ่งจำเป็นจะต้องการความสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน

    คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยทำหนังสือถึงเจ้าพระยาวงษานุประพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2456 ขอให้การรถไฟออกเงินครึ่งหนึ่งในการสร้างทางไปยังโรงงาน โดยให้เหตุผลว่าการรถไฟจะได้ค่าระวางในการขนวัตถุดิบจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ปีละประมาณ 50,000 - 60,000 บาท ขณะเดียวกับการก่อสร้างทางรถไฟจากบางซื่อถึงบางโพระยะทาง 2.4 กิโลเมตร อยู่ในวงเงินประมาณ 80,000 บาท โดยการรถไฟต้องลงทุนด้วย 40,000 บาท ต่อมา วันที่ 5 สิงหาคม ปีเดียวกับการรถไฟทำหนังสือตอบมา โดยไม่ยอมรับเงื่อนไขที่จะออกเงินลงทุนครึ่งหนึ่ง

    การเจรจาต่อรองกับการรถไฟดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกินเวลาไปพอสมควร     ในช่วงที่ต้องการให้แผนการต่าง ๆ สอดคล้องกับการมาของเครื่องจักรจากเดนมาร์ก

    ในหนังสือปูนซิเมนต์ไทยปี พ.ศ.2500 ซึ่งเรียบเรียงโดยทีมงานผู้บริหารเดนมาร์กยุคต่อมา เขียนประวัติศาสตร์ในตอนนี้ไว้ว่า "งบการลงทุนสร้างรถไฟสายนี้ที่การรถไฟจะคิดกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ฝ่ายเดียวนั้นเป็นต้นทุนสูงจนบริษัทไม่สามารถแบกรับได้" แผนการหาที่ตั้งโรงงานดำเนินไป โดยคณะกรรมการได้ประชุมหารือและตกลงใจปรับแผนในอีก 6 เดือน ซึ่งดำเนินการอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม พ.ศ.2457 (รายงานการประชุมครั้งที่ 11) และจากนั้นอีกเพียงหนึ่งเดือนก็สามารถหาที่ตั้งใหม่ (รายงานการประชุมครั้งที่ 12 วันที 16 กุมภาพันธ์) เป็นที่ดินผืนใหม่อยู่ติดกับสถานีรถไฟบางซื่อและคลองเปรมประชากร โดยมีเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เป็นเจ้าของ มีเนื้อที่ 100 ไร่เศษ (40,577 ตารางวา) โดยมีการตกลงแลกเปลี่ยนกับที่ดินเดิมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นการบริหารการก่อสร้างโรงงานดำเนินอย่างมีระบบและเร่งรีบ

    มีนาคม ตกลงว่าจ้าง Mah Neck และ W Rim Ting รับเหมาถมดินและปรับพื้นที่โรงงาน

    เมษายน ตัดสินใจเลือกบริษัท United Engineers เป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานก่อตั้งโดยชาวอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์

    พฤษภาคม Oscar Schultz เดินทางมาถึงเมืองไทย เบื้องต้นรับหน้าที่ประสานงานกับ F.L.Smidth ที่ว่าด้วยแบบแปลนโรงงาน ดูแลการสร้างโรงงาน และการเตรียมติดตั้งเครื่องจักร

    ตุลาคม เครื่องจักรล็อตสุดท้ายเดินทางมาถึงเมืองไทย พร้อม ๆ กับโรงงานสร้างเสร็จ การติดตั้งและทดลองเครื่องใช้เวลาประมาณ 5 เดือน

    พฤษภาคม พ.ศ.2458 เริ่มเดินเครื่องจักรผลิตปูนซีเมนต์ครั้งแรก  
    ป้ายคำค้น :
    รัชกาลที่ 6 , เจ้าพระยายมราช , โรงงานบางซื่อ , การรถไฟ , เจ้าพระยาวงษานุประพัฒน์ , พ.ศ.2458
  • ชื่อ
    พ.ศ.2461 ความสัมพันธ์กับรถไฟไทย : การส่งออกสู่ดินแดนอาณานิคมอังกฤษ
    รายละเอียด :
    การตัดสินใจของการรถไฟไทยในการสร้างทางลงสู่ภาคใต้ของไทย โดยใช้มาตรฐานของอังกฤษ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 และสามารถสร้างทางถึงปาดังเบซาร์ในปี พ.ศ.2461 ทำให้สามารถเชื่อมเส้นทางเข้าสู่มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าสหพันธรัฐมลายา (Federated Malay Stated, F.M.S) และ Straits Settlement (หมายถึงเกาะปีนัง-มะละกา-สิงคโปร์)

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็เริ่มส่งออกปูนซีเมนต์ไปต่างประเทศครั้งแรกในช่วงนั้นด้วย ตามหลักฐานที่ปรากฏยืนยันว่ามีการส่งออกไปจำนวนไม่มาก ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2461 - 2464 ซึ่งเป็นช่วงที่ปูนซีเมนต์จากยุโรปเข้ามาขายด้วยความยากลำบาก เนื่องจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ตลาดในเมืองไทยยังไม่ขยายตัว

    บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ตั้งตัวแทนขายซึ่งมีสำนักงานในปีนังครอบคลุมตลาดในปีนัง เปรัก และตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ซึ่งต้องใช้เส้นทางรถไฟจากภาคใต้ของไทยเข้าไปสู่ดินแดนของอาณานิคมของอังกฤษเป็นการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปได้มากกว่าการขนส่งทางเรือ ซึ่งจะต้องอ้อมผ่านช่องแคบมะละกา  
    ป้ายคำค้น :
    การรถไฟ , ส่งออก , ปีนัง , มะละกา , พ.ศ. 2461