พ.ศ.2458

  • ชื่อ
    พ.ศ.2458 ความสัมพันธ์กับรถไฟไทย : เชื่อมต่อแหล่งวัตถุดิบ
    รายละเอียด :
    ความสำคัญของการคมนาคมขนส่งโดยรถไฟในยุคต้นมีมากมายเพียงใดสำหรับการตั้งโรงงานปูนซีเมนต์คงอ่านได้จาก "ทำเลและการก่อสร้าง" ที่ว่าด้วยการการตัดสินใจเปลี่ยนทำเลที่ตั้งโรงงานจากริมแม่น้ำมาอยู่ที่ริมทางรถไฟ

    พัฒนาการของการสร้างทางระบบรถไฟในเมืองไทยมีความสำคัญและสัมพันธ์กับการพัฒนาบริษัทปูนซิเมนต์ไทยอย่างมาก ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทีเดียว เนื่องจากก่อนเกิดโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกของประเทศไทยนั้น โครงข่ายทางรถไฟเกิดขึ้นเชื่อมการคมนาคมจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองสำคัญ ๆ แล้ว

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประการแรกสุดคือ การเชื่อมโยงระหว่างโรงงานที่บางซื่อกับแหล่งวัตถุดิบสำคัญในประเทศ อันได้แก่ แหล่งดินขาวหรือบางครั้งก็เรียกดินสอพอง (Marl) ซึ่งในช่วงแรกอยู่ที่ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยขนส่งด้วยรถไฟสายเหนือจากสถานีช่องแคถึงบางซื่อเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตร จากหนังสือตอบโต้ระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (19 มิถุนายน พ.ศ.2456) และกระทรวงคมนาคม (5 สิงหาคม พ.ศ.2456) ระบุว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องจ่ายค่าขนส่งวัตถุดิบให้การรถไฟเป็นเงินปีละ 50,000 - 100,000 บาท (ในขณะนั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า ticals) ในขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยกว่าจะเรียกค่าหุ้นครบ 100% ใช้เวลาถึง 3 ปี (พ.ศ.2459)

    ต้นทุนค่าขนส่งโดยรถไฟเป็นปัจจัยพิจารณาการตัดสินเชิงบริหารครั้งสำคัญ ๆ หลายครั้งต่อจากนั้น
    ความพยายามแสวงหาวัตถุดิบที่ใช้เวลาและต้นทุนในการขนส่งลดลง ในที่สุด อีกราว 6 ปีหลังจากตั้งโรงงานที่บางซื่อก็สามารถค้นพบแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ไม่เพียงอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ยังย่นระยะทางลงอีกเหลือประมาณ 100 กิโลเมตร

    “เมื่อการคมนาคมทางรถไฟและรถยนต์ได้เป็นปัจจัยให้เกิดตลาดสำหรับปูนซีเมนต์ ห่างจากเขตพระนครมากขึ้น บริษัทก็ได้ตกลงขยายกิจการเพิ่มเติมด้วยการจัดสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นทำเลที่ได้เปรียบกว่าตำบลบางซื่อ เพราะมีการลำเลียงทางน้ำได้ด้วย แล้วอยู่ห่างจากบ่อดินขาวเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น งานนี้ได้เริ่มก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงเล็กน้อย" (จากหนังสือปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2500 : 1957)

    อย่างไรก็ตามการตั้งโรงงานที่ท่าหลวง ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องตัดสินใจลงทุนสร้างทางรถไฟเอง เป็นระยะทางถึง 8 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโรงงานท่าหลวงกับสถานีรถไฟบ้านหมอ ซึ่งยกให้เป็นสมบัติของรัฐในเวลาต่อมา "แต่ก็อีกนั่นแหละเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ไม่สามารถทำให้กรมรถไฟเห็นอกเห็นใจบริษัทในการจัดแผนงานได้” ตอนหนึ่งของหนังสือปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2500 : 1957 ระบุเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งได้สรุปไว้ด้วยว่า     "ในที่สุดการเลือกที่ตั้งโรงงานที่ท่าหลวง ก็ได้ทำให้บริษัทเป็นเจ้าจำนำ (คู่ค้า) ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย”  
    ป้ายคำค้น :
    โรงงานบางซื่อ , แหล่งดินขาว , ตาคลี , นครสวรรค์ , การรถไฟ , บ้านหมอ , สระบุรี , โรงงานท่าหลวง , พระนครศรีอยุธยา , พ.ศ.2458
  • ชื่อ
    พ.ศ.2457 เริ่มต้นยุคผู้จัดการชาวเดนมาร์ก Mr.Oscar Schultz ผู้จัดการใหญ่คนแรก
    รายละเอียด :
    เป็นที่รู้แต่แรกแล้วว่าผู้บริหารบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องเป็นชางต่างชาติที่มีความรู้และประสบการณ์

    จดหมายลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2457 จากบริษัท F.L. Smidth & Co. ถึงบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้ให้รายละเอียดของผู้จัดการบริษัทคนแรกไว้ว่า

    “ผู้จัดการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด คนแรกเป็นชาวเดนมาร์กชื่อ Mr.Oscar Schultz เรียนจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์จาก Copenhagen Poly Technical College เข้ามาทำงานที่ F.L. Smidth & Co. ที่เมืองโคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์กตั้งแต่เรียนจบเป็นเวลาประมาณ 3 ปีครึ่ง มีประสบการณ์ ทำงานในการติดตั้งเครื่องจักรผลิตปูนซีเมนต์ที่ออสเตรีย รัสเซีย และไปประจำสำนักงานที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี”

    สัญญาจ้างงานผู้จัดการบริษัทคนแรก (ฉบับร่าง) ถือเป็นเอกสารที่ให้ รายละเอียดที่น่าสนใจในการศึกษาการบริหารงานบุคคลในยุคก่อนได้ดีว่าใช้มาตรฐานยุโรป ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลและถือว่าเป็นสัญญาจ้างงานฉบับแรก ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทไทยก็ว่าได้

    ในข้อเสนอครั้งแรก Mr.Oscar Schultz จะทำงานโดยมีสัญญาครั้งละ 3 ปี โดยมีเงินเดือนครั้งแรก 1,000 ปอนด์ต่อปี ผู้จัดการคนแรกใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งเดือนครึ่งก็มาถึงประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2457 ในฐานะวิศวกรผู้ดูแลการติดตั้ง ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาว่าจ้างเป็นผู้จัดการ  เนื่องจากมีการเจรจาต่อรองกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (อ่านจดหมายจาก FLS) จนกระทั่งมีการลงนามสัญญาจ้างในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

    ตำแหน่งงานที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งก็คือสมุห์บัญชี บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บันทึกรายงานการประชุมเรียกว่า Accountant ขณะที่ F.L. Smidth เรียกว่า Book Keeper ซึ่งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ขอให้ FLS จัดหา โดยส่งหนังสือลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2457 แต่กว่าจะเดินทางทางเรือไปถึงประมาณ 2 เดือน โดยทางฝ่าย FLS สามารถจัดหาได้อย่างรวดเร็วเพียงประมาณ 1 เดือน ก็ส่งจดหมายลงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2457 เกี่ยวกับสมุห์บัญชีคนแรกของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเพราะบุคคลคนนี้ก็คือ ผู้จัดการบริษัทคนที่สอง

    Mr.Erik Thune ตอนนั้นอายุเพียง 21 ปีมีประสบการณ์ช่วงสั้น ๆ กับบริษัทน้ำมันของสหรัฐอเมริกา ในแถบสแกนดิเนเวีย ก่อนจะมาทำงานประมาณ 1 ปีที่ Tunnel Portland Cement Company  ประเทศอังกฤษ ซึ่ง FLS ถือหุ้นอยู่  เขาทำงานในสำนักงานใหญ่มีความรู้ด้านบัญชีและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องจากเขาไม่มีประสบการณ์ในการทำงานในโรงงานโดยตรง ดังนั้นก่อนจะเดินทางมาเมืองไทย FLS จะให้เขาฝึกงานในโรงงานปูนซีเมนต์ที่อังกฤษต่อประมาณหนึ่งเดือน โดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องจ่ายเงินเดือนตั้งแต่ช่วงฝึกงานในอังกฤษและรวมการเดินทางประมาณ 3 เดือน ก่อนจะเดินทางมาถึงเมืองไทย เริ่มทำงานในราวเดือนมกราคม พ.ศ.2458  
    ป้ายคำค้น :
    F.L. Smidth & Co. , Mr.Oscar Schultz , ผู้จัดการ , สมุห์บัญชี , Mr.Erik Thune , พ.ศ.2458
  • ชื่อ
    พ.ศ.2456 โรงงานบางซื่อ : ทำเลและการก่อสร้าง
    รายละเอียด :
    หนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ของเจ้าพระยายมราช ลงวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2456 ระบุถึงความพร้อมต่าง ๆ ในการตั้งโรงงานไว้ว่า

    “เป็นโชคดีของบริษัทนี้เฉพาะบุตรจีนล่ำซำขัดเงิน บอกขายที่ริมน้ำบางซื่อ อันนับว่าเหมาะที่สุด สำหรับการตั้งโรงงานซีเมนต์จะหาที่อื่นที่เหมาะเช่นนั้นไม่ได้ หลวงสวัสดิ์เวียงไชยได้ซื้อไว้แล้วเป็นเงิน 12,000 บาท เมื่อบริษัทตั้งขึ้นแล้วก็จะได้โอนไปเป็นของบริษัท ตกลงว่าการทั้งปวง พร้อมหมดทุกอย่างแล้ว ยังแต่จะขออนุญาตที่ ๆ ช่องแค ซึ่งหลวงสวัสดิ์กับมิสเตอร์โกโลขึ้นไปตรวจแล้วเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีเจ้าของกับจะต้องพูดกับกรมรถไฟเรื่องจะทำทางเข้ามาโรงงานซีเมนต์เท่านั้น”

    แต่ความจริงต่อมา เนื่องจากไม่สามารถตกลงกับการรถไฟ (ตอนนั้นใช้ชื่อกรมรถไฟ) ในการสร้างทาง 2.4 กิโลเมตร จากสถานีบางซื่อไปยังโรงงานที่คาดว่าจะตั้งที่บางโพได้ จึงจำเป็นต้องแสวงหาที่ตั้งใหม่ใกล้ทางรถไฟ ซึ่งจำเป็นจะต้องการความสะดวกในการขนส่งวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน

    คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยทำหนังสือถึงเจ้าพระยาวงษานุประพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2456 ขอให้การรถไฟออกเงินครึ่งหนึ่งในการสร้างทางไปยังโรงงาน โดยให้เหตุผลว่าการรถไฟจะได้ค่าระวางในการขนวัตถุดิบจากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ปีละประมาณ 50,000 - 60,000 บาท ขณะเดียวกับการก่อสร้างทางรถไฟจากบางซื่อถึงบางโพระยะทาง 2.4 กิโลเมตร อยู่ในวงเงินประมาณ 80,000 บาท โดยการรถไฟต้องลงทุนด้วย 40,000 บาท ต่อมา วันที่ 5 สิงหาคม ปีเดียวกับการรถไฟทำหนังสือตอบมา โดยไม่ยอมรับเงื่อนไขที่จะออกเงินลงทุนครึ่งหนึ่ง

    การเจรจาต่อรองกับการรถไฟดำเนินไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกินเวลาไปพอสมควร     ในช่วงที่ต้องการให้แผนการต่าง ๆ สอดคล้องกับการมาของเครื่องจักรจากเดนมาร์ก

    ในหนังสือปูนซิเมนต์ไทยปี พ.ศ.2500 ซึ่งเรียบเรียงโดยทีมงานผู้บริหารเดนมาร์กยุคต่อมา เขียนประวัติศาสตร์ในตอนนี้ไว้ว่า "งบการลงทุนสร้างรถไฟสายนี้ที่การรถไฟจะคิดกับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ฝ่ายเดียวนั้นเป็นต้นทุนสูงจนบริษัทไม่สามารถแบกรับได้" แผนการหาที่ตั้งโรงงานดำเนินไป โดยคณะกรรมการได้ประชุมหารือและตกลงใจปรับแผนในอีก 6 เดือน ซึ่งดำเนินการอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม พ.ศ.2457 (รายงานการประชุมครั้งที่ 11) และจากนั้นอีกเพียงหนึ่งเดือนก็สามารถหาที่ตั้งใหม่ (รายงานการประชุมครั้งที่ 12 วันที 16 กุมภาพันธ์) เป็นที่ดินผืนใหม่อยู่ติดกับสถานีรถไฟบางซื่อและคลองเปรมประชากร โดยมีเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) เป็นเจ้าของ มีเนื้อที่ 100 ไร่เศษ (40,577 ตารางวา) โดยมีการตกลงแลกเปลี่ยนกับที่ดินเดิมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นการบริหารการก่อสร้างโรงงานดำเนินอย่างมีระบบและเร่งรีบ

    มีนาคม ตกลงว่าจ้าง Mah Neck และ W Rim Ting รับเหมาถมดินและปรับพื้นที่โรงงาน

    เมษายน ตัดสินใจเลือกบริษัท United Engineers เป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานก่อตั้งโดยชาวอังกฤษ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์

    พฤษภาคม Oscar Schultz เดินทางมาถึงเมืองไทย เบื้องต้นรับหน้าที่ประสานงานกับ F.L.Smidth ที่ว่าด้วยแบบแปลนโรงงาน ดูแลการสร้างโรงงาน และการเตรียมติดตั้งเครื่องจักร

    ตุลาคม เครื่องจักรล็อตสุดท้ายเดินทางมาถึงเมืองไทย พร้อม ๆ กับโรงงานสร้างเสร็จ การติดตั้งและทดลองเครื่องใช้เวลาประมาณ 5 เดือน

    พฤษภาคม พ.ศ.2458 เริ่มเดินเครื่องจักรผลิตปูนซีเมนต์ครั้งแรก  
    ป้ายคำค้น :
    รัชกาลที่ 6 , เจ้าพระยายมราช , โรงงานบางซื่อ , การรถไฟ , เจ้าพระยาวงษานุประพัฒน์ , พ.ศ.2458
  • ชื่อ
    พ.ศ.2456 เริ่มต้นยุคผู้จัดการชาวเดนมาร์ก : เทคโนโลยีเดนมาร์ก
    รายละเอียด :
    “การเรียกประมูลซื้อเครื่องจักร มีบริษัทสามบริษัทด้วยกัน ยื่นใบประมูลราคาเข้ามา คือบริษัทอังกฤษ บริษัทเยอรมัน และบริษัทเดนมาร์ก คณะกรรมการบริษัทของเราพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว เห็นสมควรที่จะส่งกรรมการคนหนึ่งไปต่างประเทศ เพื่อเจรจาหารือกับบริษัทที่ได้ยื่นประมูลทั้งสามบริษัทนั้น ในท้ายที่สุดได้มีการตัดสินตกลงให้บริษัทเดนมาร์กได้รับประมูล”                            
    (อ้างจาก "บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด พ.ศ.2500")

    เท่าที่ตรวจสอบหลักฐานที่มีอยู่ในรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม  พ.ศ.2456 คณะกรรมการ ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ Mr. E.G. Gollo และ W.L. Grut ทำหน้าที่แทนบริษัทเรียกประมูลซื้อเครื่องจักร ซึ่งเป็นการเรียกประมูลในยุโรป รวมทั้งการตัดสินใจคัดเลือกผู้ชนะการประมูลด้วย เอกสารมอบอำนาจนี้ลงนามในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2456 โดยมีการลงนามประทับตราของกงสุลเดนมาร์กในประเทศไทย ในวันเดียวกันทันที

    ทั้งนี้โดยไม่ปรากฎหลักฐานในรายงานการประชุมในครั้งต่อมาแต่อย่างใดว่า มีข้อเสนอของทั้ง 3 บริษัทเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ

    เข้าใจว่ากว่าหนังสือมอบอำนาจที่เดินทางไปถึงโดยเรือก็ประมาณ 2 เดือน จึงพอดีกับเวลาที่ลงนามสัญญา ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2456 Mr.E.G. Gollo และ W.L. Grut ได้แจ้งว่าได้รับโทรเลขมาจากยุโรปแจ้งต่อคณะกรรมการว่า พวกเขาได้ตกลงเลือกเครื่องจักรจาก F.L. Smidth & Co. จากเดนมาร์ก แต่เท่าที่มีหลักฐานจากเอกสารต้นฉบับ สัญญาซื้อเครื่องจักรได้ลงนามก่อนหน้านั้นแล้ว ลงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2456 ได้ส่งมายังกรุงเทพฯ โดยมีเนื้อหารายละเอียดจำนวน 7 หน้า โดยมีการลงนามท้ายจดหมายยอมรับเงื่อนไข

    F.L. Smidth & Co. ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2428 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยแรกเริ่มเป็นที่ปรึกษาวิศวกรรม เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักรไอน้ำ ต่อมาได้พัฒนาเทคโนโลยีจนกลายมาเป็นผู้ผลิตเครื่องผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของโลก ขยายตลาดจากสแกนดิเนเวียไปสู่ยุโรปตอนกลาง รัสเซีย  สหราชอณาจักร อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ กินส่วนแบ่งมากกว่า 40% ของอุตสาหกรรมในช่วงก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

    F.L. Smidth & Co. เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของประเทศเดนมาร์กและของโลกในสมัยนั้น เข้าใจว่าเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ห้าง East Asiatic   นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยด้วย

    สาระของสัญญาประวัติศาสตร์ชิ้นนี้มีสาระสำคัญดังนี้

    1. ราคาเครื่องจักร ทั้งชุด 12,400 ปอนด์สเตอริ่ง

    2. กำลังการผลิต 470 บาร์เรลต่อวัน

    3. กำหนดเดินทางออกจากท่าเรือที่เมืองโฮเปนเฮเกนระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 15 กรกฏาคม พ.ศ.2457

    4. พร้อมกันนี้จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ 4 คน ตามมาด้วย ได้แก่ วิศวกรติดตั้ง วิศวกรเคมี ผู้เชี่ยวชาญหม้อเผา และเจ้าหน้าที่ติดตั้งและประกอบในโรงงาน ทั้งนี้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ออกค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่เหล่านี้

    5. การชำระเงินเมื่อตกลงจ่ายทันที่ 35% เมื่อเดินทางออกจากโฮเปนเฮเกนจ่ายอีก 55% ที่เหลือ 10% จ่ายเมื่อเครื่องเดินแล้ว 2 เดือน

    ต่อมาวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2457 บริษัท F.L. Smidth & Co. ได้ทำหนังสือถึงบริษัท โดยอ้างสัญญา เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2456 นั้น      นอกจากจะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลการติดตั้งเครื่องจักร เขาได้ตกลงกับ Mr.E.G. Gollo ว่าจะจัดหาผู้มาเป็นผู้จัดการบริหารโรงงานหลังจากติดตั้งเครื่องจักรแล้วด้วย และมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการจัดหาวิศวกร วิศวกรเคมี นักบัญชี และผู้จัดการโรงงานให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ด้วย  
    ป้ายคำค้น :
    Gollo , Grut , F.L. Smidth & Co. , พ.ศ.2458 , เทคโนโลยีเดนมาร์ก