โรงงานท่าหลวง

  • ชื่อ
    พ.ศ.2458 ความสัมพันธ์กับรถไฟไทย : เชื่อมต่อแหล่งวัตถุดิบ
    รายละเอียด :
    ความสำคัญของการคมนาคมขนส่งโดยรถไฟในยุคต้นมีมากมายเพียงใดสำหรับการตั้งโรงงานปูนซีเมนต์คงอ่านได้จาก "ทำเลและการก่อสร้าง" ที่ว่าด้วยการการตัดสินใจเปลี่ยนทำเลที่ตั้งโรงงานจากริมแม่น้ำมาอยู่ที่ริมทางรถไฟ

    พัฒนาการของการสร้างทางระบบรถไฟในเมืองไทยมีความสำคัญและสัมพันธ์กับการพัฒนาบริษัทปูนซิเมนต์ไทยอย่างมาก ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญทีเดียว เนื่องจากก่อนเกิดโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกของประเทศไทยนั้น โครงข่ายทางรถไฟเกิดขึ้นเชื่อมการคมนาคมจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองสำคัญ ๆ แล้ว

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประการแรกสุดคือ การเชื่อมโยงระหว่างโรงงานที่บางซื่อกับแหล่งวัตถุดิบสำคัญในประเทศ อันได้แก่ แหล่งดินขาวหรือบางครั้งก็เรียกดินสอพอง (Marl) ซึ่งในช่วงแรกอยู่ที่ตำบลช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ โดยขนส่งด้วยรถไฟสายเหนือจากสถานีช่องแคถึงบางซื่อเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตร จากหนังสือตอบโต้ระหว่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (19 มิถุนายน พ.ศ.2456) และกระทรวงคมนาคม (5 สิงหาคม พ.ศ.2456) ระบุว่าบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องจ่ายค่าขนส่งวัตถุดิบให้การรถไฟเป็นเงินปีละ 50,000 - 100,000 บาท (ในขณะนั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า ticals) ในขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยกว่าจะเรียกค่าหุ้นครบ 100% ใช้เวลาถึง 3 ปี (พ.ศ.2459)

    ต้นทุนค่าขนส่งโดยรถไฟเป็นปัจจัยพิจารณาการตัดสินเชิงบริหารครั้งสำคัญ ๆ หลายครั้งต่อจากนั้น
    ความพยายามแสวงหาวัตถุดิบที่ใช้เวลาและต้นทุนในการขนส่งลดลง ในที่สุด อีกราว 6 ปีหลังจากตั้งโรงงานที่บางซื่อก็สามารถค้นพบแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ไม่เพียงอยู่ใกล้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ยังย่นระยะทางลงอีกเหลือประมาณ 100 กิโลเมตร

    “เมื่อการคมนาคมทางรถไฟและรถยนต์ได้เป็นปัจจัยให้เกิดตลาดสำหรับปูนซีเมนต์ ห่างจากเขตพระนครมากขึ้น บริษัทก็ได้ตกลงขยายกิจการเพิ่มเติมด้วยการจัดสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นทำเลที่ได้เปรียบกว่าตำบลบางซื่อ เพราะมีการลำเลียงทางน้ำได้ด้วย แล้วอยู่ห่างจากบ่อดินขาวเพียง 10 กิโลเมตรเท่านั้น งานนี้ได้เริ่มก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงเล็กน้อย" (จากหนังสือปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2500 : 1957)

    อย่างไรก็ตามการตั้งโรงงานที่ท่าหลวง ทำให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ต้องตัดสินใจลงทุนสร้างทางรถไฟเอง เป็นระยะทางถึง 8 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโรงงานท่าหลวงกับสถานีรถไฟบ้านหมอ ซึ่งยกให้เป็นสมบัติของรัฐในเวลาต่อมา "แต่ก็อีกนั่นแหละเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่ไม่สามารถทำให้กรมรถไฟเห็นอกเห็นใจบริษัทในการจัดแผนงานได้” ตอนหนึ่งของหนังสือปูนซิเมนต์ไทย พ.ศ.2500 : 1957 ระบุเรื่องนี้เอาไว้ ซึ่งได้สรุปไว้ด้วยว่า     "ในที่สุดการเลือกที่ตั้งโรงงานที่ท่าหลวง ก็ได้ทำให้บริษัทเป็นเจ้าจำนำ (คู่ค้า) ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย”  
    ป้ายคำค้น :
    โรงงานบางซื่อ , แหล่งดินขาว , ตาคลี , นครสวรรค์ , การรถไฟ , บ้านหมอ , สระบุรี , โรงงานท่าหลวง , พระนครศรีอยุธยา , พ.ศ.2458
  • ชื่อ
    พ.ศ.2491 โรงงานท่าหลวง
    รายละเอียด :
    โรงงานท่าหลวง นอกจากจะมีความหมายในเชิงยุทธศาสตร์ทางธุรกิจสำหรับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด อย่างมากแล้ว สำหรับ Mr.Jespersen น่าจะมีความสำคัญที่สุดในชีวิตการบริหารกิจการปูนซีเมนต์แห่งแรกในเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ ไม่ว่าจะมองในเรื่องแรงบันดาลใจ ความรู้ความสามารถ การปรับตัว รวมทั้งการผ่านการทดสอบสำคัญในฐานะนักบริหารที่เผชิญวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่อย่างรอบด้านทีเดียว

    ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า Mr.Jespersen วางแผนจะสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ไว้ในใจเมื่อไหร่ แต่รายงานที่มีเรื่องการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่  ปรากฎในรายงานการประชุมคณะกรรมการตั้งแต่ปี พ.ศ.2481

    อุปสรรคใหญ่หลวง

    แผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งที่สองของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด    เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2475 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าไม่กี่ปี เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นช่วงเวลาความขัดแย้งและความไม่มั่นคงทางการเมืองปกคลุมสังคมไทยค่อนข้างยาวนาน ต่อมาปี พ.ศ.2480 จึงตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทนพระคลังข้างที่ ให้มีการบริหารในรูปคณะกรรมการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการขณะนั้น ได้แก่ นายปรีดี พนมยงศ์  นั่นหมายความว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ก็กลายเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นายชุณห์ ปิณฑานนท์ สมาชิกคณะราษฎรมาเป็นประธานกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในต้นปี พ.ศ.2481 ในฐานะประธานคนไทยคนแรก ในระยะเดียวกับแผนการก่อสร้างโรงงานเริ่มต้นขึ้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นในปีถัดมา Mr.W.L. Grut ซึ่งนับว่าเป็นประธานกรรมการที่ทำงานเข้ากันได้อย่างดีกับผู้จัดการชาวเดนมาร์กมาแล้วถึง 3 คน ได้ลาออกและเดินทางออกจากประเทศไทยไป (รายละเอียดเรื่องนี้ อ่านได้จากเรื่อง "คนไทยมีบทบาทมากขึ้น")

    ความยุ่งยากและอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2482 ซึ่งมีการกล่าวไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการ หากพิจารณาคำบอกเล่าของ Mr. Jespersen ใน "บทความเบื้องหลังของท่าหลวง หนังสือปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526; หน้า 56-61) โดยให้รายละเอียดอย่างมีสีสัน แสดงถึงการให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก และสาระสอดคล้องกัน

    สรุปความยุ่งยากและอุปสรรคในการก่อกำเนิดโรงงานท่าหลวงได้คร่าว ๆ ดังนี้

    - ข่าวลือว่ารัฐบาลมีแผนการสร้างโรงงานปูนซีเมนต์แห่งใหม่ที่ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งนับว่าเป็นที่ที่ใกล้เคียงสถานที่ตั้งโรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่จะตั้งขึ้นที่ อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

    - ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (Mr. Jespersen) เดินทางเข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง ซึ่งได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลมีความคิดเช่นนั้นจริง ด้วยเหตุผลที่จะทำให้ราคาปูนซีเมนต์ถูกกว่าของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด โดยมีข้อมูลรายละเอียดของโครงการให้ดูด้วย

    - Mr. Jespersen พบว่าข้อมูลของโรงงานของรัฐบาลเป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ที่เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัท แต่มีการตกแต่งตัวเลขเล็กน้อย นัยของเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่าง    ผู้บริหารของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กับกรรมการบริษัทที่เป็นตัวแทนจากคณะราษฎร

    - Mr. Jespersen เข้าพบหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอีกครั้งหนึ่ง นำข้อมูลชุดนี้ไปแสดง ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้นและทำจดหมายรับรองเป็นภาษาอังกฤษว่า รัฐบาลสนับสนุนโครงการของบริษัท     ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และจะยกเลิกแผนการสร้างโรงงานใหม่

    ในการประชุมคณะกรรมการอย่างฉุกเฉิน (ตามที่ผู้จัดการทั่วไปกล่าว) เท่าที่ปรากฏหลักฐาน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2482 ได้หารือเรื่องนี้และได้ทำหนังสือเวียนไปยังผู้ถือหุ้น รวมทั้งยืนยันแผนการสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่สระบุรีเป็นที่แน่นอน

    แผนการดี

    ต้องยอมรับว่าแผนการต่าง ๆ ของผู้จัดการทั่วไปที่เตรียมการมาแล้วส่วนหนึ่งและดำเนินการจนเริ่มต้นสร้างโรงงาน ใช้ระยะเวลาห่างจากการประชุมฉุกเฉินคราวนั้นเพียง 4 เดือนเท่านั้น การสร้างโรงงานที่ท่าหลวงจึงเริ่มต้นอย่างเป็นการทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2483   ในช่วงเตรียมการ Mr. Jespersen เล่าว่าได้วางแผนโดยคำนึงถึงเรื่อง แหล่งวัตถุดิบ การขนส่งไปขายยังตลาด เป็นปัจจัยสำคัญ จึงมีการวางแผนขึ้นมา 3 โครงการคือ

    (1) การสร้างโรงงานขึ้นมาใกล้แหล่งวัตถุดิบใหม่ที่บ้านหมอ จ.สระบุรี

    (2) การขยายโรงงานบางซื่อ

    (3) การสร้างโรงงานที่เกาะสีชัง ถ้าการส่งออกทวีความสำคัญขึ้นมา

    โดยการดำเนินงานทั้ง 3 โครงการปิดเป็นความลับเพื่อป้องกันการเก็งกำไรราคาที่ดิน

    แผนการจัดซื้อที่ดินดำเนินไปในทันที การสำรวจที่บ้านหมอใกล้แหล่งดินขาว ได้บอกกับคนท้องถิ่นเรื่องทำโรงสีข้าว เอาปืนไปด้วยเหมือนไปยิงนกปากซ่อม แต่ไปเดินสำรวจเลียบแม่น้ำป่าสัก หาทำเลที่ตั้งโรงงานใหม่

    ในอีกด้านหนึ่งการสำรวจที่เกาะสีชังใช้ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทำทีว่าไปเล่นน้ำทะเลและอ่านหนังสือ จากนั้นให้คนซื้อที่ดินแถบท่าหลวงในราคาถูก และเมื่อได้รับแบบแปลนร่างโรงงานใหม่พร้อมค่าใช้จ่ายแล้ว จึงเสนอคณะกรรมการพิจารณา 3 ทางเลือก ซึ่งโครงการท่าหลวงมีต้นทุนต่ำที่สุด โครงการขยายที่บางซื่อมีต้นทุนปานกลาง และโครงการที่เกาะสีชังมีต้นทุนสูงที่สุด

    เดิมแหล่งดินขาวแห่งแรกที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ใช้นำมาทำการผลิตที่โรงงานบางซื่อ อยู่ที่ตำบลช่องแค อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ห่างจากกรุงเทพฯ ถึง 170 กิโลเมตร ต่อมาในปี พ.ศ.2464 จึงได้พบแหล่งดินขาวใหม่ที่ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ซึ่งห่างเพียง 100 กิโลเมตร ดังนั้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด จึงตัดสินใจก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ห่างจากแหล่งดินขาวเพียง 10 กิโลเมตร และมีการลำเลียงทางน้ำได้โดยสะดวกด้วย

    เดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ผู้จัดการทั่วไป ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ว่าการก่อสร้างโรงงานปูนเม็ดที่ตำบลท่าหลวงใกล้แล้วเสร็จ

    เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 คณะกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานท่าหลวง ชมการถลุงเหล็ก และแผนกต่าง ๆ ของโรงงานปูนเม็ด แต่การก่อสร้างโรงงานท่าหลวงต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังสงครามจึงได้ดำเนินการก่อสร้างต่อไปจนโรงงานเปิดทำการผลิตได้จริงในปี พ.ศ.2491

    พัฒนาสู่โรงงานปูนซีเมนต์สมบูรณ์แบบ

    บทบาทแรกของโรงงานท่าหลวง เริ่มต้นเป็นฐานสำรองสนับสนุนโรงงานบางซื่อ ในช่วงนั้นบางซื่อประสบปัญหาได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลก สามารถผลิตปูนเม็ดได้เพียงหนึ่งในสามจากปริมาณการผลิตเดิม ดังนั้นเมื่อโรงงานท่าหลวงเกิดขึ้น จึงสามารถผลิตปูนเม็ดทดแทนส่วนที่ขาดได้ โดยบทบาทโรงงานท่าหลวงเป็นเพียงผู้ผลิตปูนเม็ด แล้วขนส่งทางรถไฟและทางเรือมายังโรงงานบางซื่อเพื่อบดเป็นปูนซีเมนต์ผงสำเร็จรูปเพื่อขายต่อไป

    จากรายงานของหนังสือครบรอบ 40 ปี (จัดทำขึ้นหลังจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เยือนโรงงานในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2496) ระบุว่าในปี พ.ศ.2496 หรือหลังจาก 5 ปีที่โรงงานท่าหลวงเริ่มต้นผลิต ได้ปรับบทบาทจากการผลิตปูนเม็ดเพื่อป้อนโรงงานบางซื่อมาเริ่มผลิตปูนซีเมนต์ผงเอง ทั้งนี้เนื่องจากในระยะนั้นปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของภาคกลางตอนบน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2496 โรงงานท่าหลวงจึงพัฒนาไปอีกขั้น เพื่อเป็นโรงานผลิตปูนซีเมนต์ที่สมบูรณ์เต็มรูปแบบ

    เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย

    โรงงานท่าหลวงเป็นส่วนหนึ่งของจินตนาการเมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของไทย ปรากฏอยู่ในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี พ.ศ.2496 ซึ่งมีภาพแผนที่ปรากฏในหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ โดยมีคำบรรยายอย่างมีสีสันในหน้า 60-62  "เมืองอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศ" ไว้ด้วย ทั้งนี้เป็นจินตนาการมาแล้วก่อนหน้า ตั้งแต่เยือนสถานที่แห่งนี้ ครั้งแรกซึ่งเป็นทุ่งนาประมาณ 15 ปีก่อนหน้านั้นหรือราว ๆ ปี พ.ศ.  2480 หากพิจารณาแผนที่ในหน้า 62 จะพบว่าจินตนาการเมืองอุตสาหกรรมไปไกลกว่าปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นภาพที่ประกอบด้วยย่านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่กว้างใหญ่ สถานที่ราชการ สถานที่การค้า ฯลฯ ซึ่งยอมรับว่า "อาจจะมีผู้ถือหุ้นหลายท่าน เห็นว่าภาพที่วาดนี้ออกจะเกินเหตุไป"

    แนวความคิด น่าจะเป็นที่มาของการลงทุนสร้างโรงงานท่าหลวงที่เป็นการลงทุนค่อนข้างมาก ในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี กล่าวไว้อย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งความขัดแย้งทางความคิดในคณะกรรมการกับผู้จัดการใหญ่ในแนวคิดนี้ไว้

    การสร้างโรงงานท่าหลวงเป็นแนวคิดการสร้างเมืองอุตสาหกรรมที่มีลักษณะพึ่งตนเองอย่างสมบูรณ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ยังมีการวางแผนเพื่ออนาคตไว้ค่อนข้างมาก ที่สำคัญมีโรงไฟฟ้าไว้ใช้เอง สร้างสายไฟแรงสูงมีความยาวถึง 10 กิโลเมตรจากโรงงานจนถึงบ่อดินขาวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงาน ทั้งนี้ยังมีปริมาณเหลือพอจะให้บริการแก่ชุมชนในย่านนั้น

    ผู้จัดการทั่วไป (Mr. Jespersen) เน้นว่าการลงทุนจำนวนมาก แต่ก็คุ้มค่าเพราะจะทำให้ราคาปูนซีเมนต์ต่ำลง สามารถแข่งขันกับปูนซีเมนต์ต่างประเทศและพร้อมจะส่งออกได้ด้วยเมื่อปริมาณเหลือ ทั้งนี้ที่ทำได้เช่นนี้เพราะบริษัทยึดแนวทางกันเงินปันผลจำนวน 50% ไว้สำหรับการลงทุนโดยเฉพาะ

    "ฉะนั้นเมื่อท่านมาดูกิจการต่าง ๆ ด้วยตนเองแล้ว จึงหวังว่าท่านคงจะเห็นพ้องกับวิธีที่บริษัทเลือกใช้ เป็นทางปฏิบัติ และเสียงที่เคยตำหนิฝ่ายอำนวยการของบริษัทอยู่เนือง ๆ ว่าบริษัทได้ใช้เงินก่อสร้างอาคารโรงงานใหญ่โตเกินควรนั้น คงจะเบาบางลงบ้าง" ข้อความในหนังสือกิจการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในระยะ 40 ปี พ.ศ.2496 ตอนหนึ่งระบุไว้

    ในเวลาต่อมาโรงงานท่าหลวงได้สร้างโมเดลการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับชุมชน มีความเกื้อกูลกัน สร้างชุมชนให้เติบโต สร้างงานพัฒนาองค์ความรู้ที่สำคัญ สร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น เป็นเมืองที่สมบูรณ์ในตนเองเป็นต้นแบบและบทเรียนของอุตสาหกรรมในการอยู่กับชุมชนเกษตร อันมีคุณค่าอย่างมากในเวลาต่อมา  
    ป้ายคำค้น :
    Jespersen , โรงงานท่าหลวง , ปรีดี , พนมยงค์ , เมืองอุตสาหกรรม , 2491