พ.ศ. 2554 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดแผ่นดินไหวซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากคาบสมุทรโอะชิกะไปทางตะวันตกเฉียงใต้เป็นระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกประมาณ 24 กิโลเมตร เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการดันตัวของแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิคและแผ่นเปลือกโลกอเมริกาเหนือ ทำให้เกิดแรงสะเทือนในภาคตะวันออก ภูมิภาคคันโต และชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิค กินพื้นที่จากเหนือจรดใต้ 500 กิโลเมตร จากตะวันออกจรดตะวันตก 200 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนวัดได้ 9.0 แมกนิจูด

ถือเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่สามารถวัดได้ในญี่ปุ่น และเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของโลกนับแต่แผ่นดินไหวในอ่าวสุมาตรา และมีความรุนแรงเป็นอันดับ 4 จากแผ่นดินไหวทั้งหมดตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา

แผ่นดินไหวครั้งนี้ ก่อให้เกิดคลื่นสึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกและรุกล้ำเข้ามาในแผ่นดินมากที่สุดถึง 6 กิโลเมตร ที่ชายทะเลบริเวณตอนใต้ของจังหวัดอิวาเทะ จังหวัดมิยากิ และตอนเหนือของจังหวัดฟุกุชิมะ ปรากฏคลื่นสึนามิสูง 8-9 เมตร น้ำทะเลขึ้นสูงสุด 40.5 เมตร ชายฝั่งทะเลภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวต่างได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ
ผลกระทบร้ายแรงอีกประการหนึ่ง ซึ่งเกิดจากสึนามิ คือความเสียหายที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ซึ่งมีการรั่วไหลของกัมมันตรังสี เบื้องต้นทำให้ประชาชนประมาณ 140,000 คนซึ่งอยู่รอบรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าต้องอพยพ ยิ่งกว่านั้น ยังมีโอกาสเกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาวสูง      

ในช่วงแรกประชากรกว่า 300,000 คนต้องย้ายออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่อื่น หรือไปอาศัยที่พักพิงชั่วคราวประมาณ 2,400 แห่งในบริเวณใกล้เคียง โดยความต้องการที่พักอาศัยชั่วคราวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว 8,800 หน่วยในอิวาเตะ 10,000 หน่วยในมิยากิ และ 19,000 หน่วยในฟุกุชิมะ      

จากการขาดแคลนไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า ทั้งเรื่องเสบียงอาหาร น้ำ ยารักษาโรคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังต้องจัดเตรียมอาหารเพิ่มเติมสำหรับผู้ไม่อพยพ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีรายงานว่า ผู้อพยพบางคนได้รับอาหารเพียงมื้อเดียวต่อวัน      

เหตุการณ์แผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดชะงัก โดยปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาในห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และการขาดแคลนไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออก ทำให้เกิดผลกระทบขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ

ผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมหดตัวสูงมากโดยเฉพาะหมวดยานยนต์ โดยเมื่อวันที่ 12 เมษายน ปี 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่า มูลค่าการฟื้นฟูบูรณะอาจสูงกว่า 25 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของญี่ปุ่นหดตัวลงร้อยละ 3.7 ในไตรมาสแรกของปี 2554
            
 แต่หลังจากผ่านพ้นภัยพิบัติการฟื้นตัวของภาคการผลิตก็เป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับผลดีจากงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและซ่อมสร้างพื้นที่ประสบภัยของทางการมูลค่า 6 ล้านล้านเยนหรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.3 ของ GDP

แม้ปัญหาในภาคการผลิตคลี่คลายลงแต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องเผชิญกับอุปสรรคจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเงินเยนที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดยผลกระทบจากวิกฤตการคลังในกลุ่มประเทศยูโรและสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าญี่ปุ่นจำนวนมาก

สาเหตุมาจากการที่นักลงทุนมองว่าสินทรัพย์สกุลเงินเยนมีความเสี่ยงต่ำ (Safe-Haven Currency) ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 75.8 เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนตุลาคม

ด้วยเหตุนี้ เดือนพฤศจิกายน กระทรวงการคลังญี่ปุ่น ดำเนินนโยบายแทรกแซงค่าเงินเยนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 9.09 ล้านล้านเยน (117 พันล้านดอลลาร์) แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ความไม่แน่นอนในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะกลุ่มประเทศยูโร และการแข็งค่าของเงินเยน ยังเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น